อาการเหนื่อยล้าจากการประชุมออนไลน์มีอยู่จริง

โดย Supanan Anansuviroj ·

ช่วงนี้เมื่อประมาณปีที่แล้ว เรายอมรับเลยว่าเราตื่นเต้นสุดๆ กับการได้ยินว่าจะต้องเรียนหรือทำงานที่บ้าน เพราะอยู่บ้านน่ะสบายจะตาย ไม่ต้องไปแออัดกับคนอื่นบนรถไฟ ไม่ต้องเสียเวลารถติดเป็นชั่วโมง แถมการใส่ชุดนอนทั้งวันมันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร แต่ผ่านไปหนึ่งปี หลายๆ คนยังคงต้องเรียนและประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์อยู่ จึงทำให้จากเรื่องสนุกกลายมาเป็นสิ่งที่ดูดพลังงานอย่างมหาศาล ถ้ากำลังรู้สึกแบบนั้น ก็แสดงว่าทุกคนอาจกำลังเจอกับอาการ “Zoom fatigue” อยู่

คำว่า Zoom fatigue มาจากการรวมกันของคำว่า Zoom ซึ่งเป็นชื่อของบริการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และคำว่า fatigue หรือความเหนื่อยล้า จึงแปลรวมกันได้ว่าอาการเหนื่อยล้าจากการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แต่อาการแบบนี้เกิดขึ้นมาจากสาเหตุอะไรและเราจะสามารถแก้ไขได้อย่างไร ไปดูกันเลย

1. ปริมาณของ eye contact ที่มากจนเกินไป

เนื่องจากการต้องจ้องหน้าผู้สนทนาอื่นๆ ในขนาดที่ใหญ่กว่าปกติ และในระยะที่ใกล้เกินไปทำให้สมองของเรารู้สึกว่าเรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด เพราะการประชุมในรูปแบบปกติ เราจะนั่งค่อนข้างห่างจากผู้อื่น และเห็นเกือบทั้งตัวไม่ใช่แค่บริเวณหัวถึงไหล่ นอกจากนี้ถ้าเราเป็นผู้ที่กำลังพูดอยู่เราจะรู้สึกอึดอัดจากทุกสายตาที่จับจ้องมา เป็นหนึ่งในอาการ social anxiety ของการพูดในที่สาธารณะ

วิธีแก้ไข: ปรับขนาดหน้าต่างของการสนทนาให้เล็กลง ไม่ต้องเต็มจอ และหันมาใช้คีย์บอร์ดแบบ external เพื่อเพิ่มระยะห่างระหว่างตัวเองและหน้าจอ

2. ความเพลียจากการเห็นตัวเองตลอดเวลา

Jeremy Bailenson จากมหาวิทยาลัย Stanford บอกว่ามันก็เหมือนมีคนถือกระจกแล้วตามส่อง ให้เราเห็นทุกการกระทำของตัวเองตลอดทั้งวัน ซึ่งมันแปลกมากๆ แถมการที่เราเห็นภาพสะท้อนของตัวเองเป็นเวลานานๆ ยังทำให้เราเริ่มมานั่งจับผิดตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

วิธีแก้ไข: ซ่อนหรือปรับขนาดหน้าต่างของตัวเอง

3. การสนทนาผ่านวิดีโอทำให้การเคลื่อนไหวตัวของเราลดลง

เราสามารถขยับร่างกายหรือเดินไปมาได้ผ่านการสนทนาตัวต่อต่อหรือการคุยโทรศัพท์ กลับกันการสนทนาผ่านวิดีโอทำให้เราต้องนั่งอยู่กับที่เฉยๆ ซึ่งมันผิดธรรมชาติ และจากการวิจัยพบว่า เราสามารถคิดได้ลื่นไหลกว่าเมื่อเราได้ขยับตัว

วิธีแก้ไข: ติดตั้งกล้องแบบ external ให้ห่างจากหน้าจอ และปิดวิดีโอของเราบ้าง (แต่ยังเปิดเสียงอยู่) เป็นบางครั้งเพื่อให้เราได้พักขยับร่างกาย

4. เสียพลังงานไปกับการใช้กระบวนการคิดอย่างหนัก

เนื่องจากเราไม่สามารถสื่อทางร่างกายและใช้อริยาบทต่างๆ ได้ จึงทำให้เราต้องใช้พลังงานอย่างมากเพื่อคิดวิธีในการสื่อสารและรับรู้ข้อมูลผ่านทางการพูดและระยะที่จำกัด เช่นเราอาจจะต้องพยักหัวหนักกว่าปรกติหรือชูนิ้วโป้งขึ้นมาให้ผู้พูดรับรู้ว่าเราเห็นด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการใช้อริยาบทบางอย่างในวิดีโอคอนเฟอเรนซ์นั้นมีความแตกต่างไปจากการใช้แบบตัวต่อตัวอย่างชิ้นเชิง ซึ่งมันอาจทำให้คนอื่นเข้าใจผิดได้

วิธีแก้ไข: ในระหว่างการประชุมยาวๆ ลองปิดวิดีโอสักพักเพื่อที่จะใช้เสียงอย่างเดียว ซึ่งมันไม่เพียงทำให้เราได้ออกห่างมาจากหน้าจอ แต่ยังทำให้เราได้พักเหนื่อยจากการแสดงอริยาบทที่ไม่ได้มีความหมายอะไรตลอดเวลาด้วยอีกต่างหาก

อ้างอิง: https://news.stanford.edu/2021/02/23/four-causes-zoom-fatigue-solutions/ 

  • ขอบคุณทุกคนที่อ่านน้า ถ้ามีข้อคิดเห็นหรือข้อแนะนำอะไร ติดต่อมาได้ที่นี่เล้ย labs@longdo.com 
  • นอกจากเรื่องนี้แล้ว เรายังมีเรื่องอื่นของสัปดาห์นี้อีกนะ
  • ยังไม่พอใช่ไหม? ไปดูคอนเทนต์รายสัปดาห์อื่นๆ ของเรากันที่นี่สิ ?

บทความที่เกี่ยวข้อง

มารู้จัก “Zoom Escaper” เครื่องมือที่ช่วยให้คุณหนีประชุมออนไลน์ได้อย่างเนียนๆ

คอนเทนต์ใหม่ล่าสุด! จาก Longdo Labs #8

คอนเทนต์ใหม่ล่าสุด! จาก Longdo Labs #12